การเตรียมตัวไปจาริกแสวงบุญ ตอนที่ 6 สิ่งที่ต้องเตรียมใจไว้ล่วงหน้า
ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน นี่คือconcept ของประเทศอินเดีย แต่ขอให้ท่านตระหนักไว้ว่า ความไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานี่ล่ะ คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนและย้ำเตือน และเมื่อเราทำความเข้าใจจุดนี้ได้ ใจเราก็จะพร้อมรับกับสภาพทุกอย่าง
แต่ถามว่าอินเดียเละเทะขนาดนั้นเลยหรือ ไม่ถึงขนาดนั้นค่ะ แค่เป็นเราอาจจะไม่เจอการจราจรที่ต้องติดขัดเพราะวัวนอนขวาง กราบไหว้กระเพราเป็นเทพเจ้าหรือเจอพระเชนนิกายฑิฆัมพร นุ่งลมห่มฟ้าเดินแก้ผ้าผ่านหน้ารถเท่านั้นเอง
ดังนั้นสิ่งที่เราจะเจอในอินเดีย จะเป็นอีกสีสันหนึ่งในชีวิตของเรา ที่เขาเป็นครูเราได้หากใจเราดี และเขาจะเป็นศัตรู เผาใจเราได้เช่นกันค่ะ
- ระยะทางการเดินทาง
ประเทศอินเดีย เป็นประเทศที่มีขนาดกว้างใหญ่ไพศาล ถึงขนาดอังกฤษเจ้าอาณานิคมเรียกประเทศนี้ว่าอนุทวีป (Sub Continent) ระยะทางที่เราจะเดินทางกันไปในสถานที่ตามโปรแกรมกราบสักการะสังเวชนียสถานนั้นห่างไกลพอสมควร เราจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ยาวนานไปได้ สิ่งที่จะสามารถปรับแก้ไขได้ คือใจของเราเองที่ต้องยอมรับว่า หากจะไปในสถานที่เหล่านี้ อุปสรรคด้านระยะทาง อย่างไรเราก็ต้องเจอแน่นอน ไม่ว่าจะซื้อทัวร์ไปแพงแค่ไหนก็ตาม
แต่อย่างหนึ่งที่อยากให้ทุกท่านตระหนักก็คือระยะทางที่เราเดินทางใน 8 วันนี้ เป็นระยะทางที่สั้นกว่าระยะทางที่พระพุทธเจ้าท่านย่างก้าวด้วยพระบาทเปล่าแน่นอน ดังนั้นหากเวลาใดที่ท่าเมื่อยขบกาย ขอให้ท่านนึกถึงความลำบากขององค์บรมครูของเรา ว่าท่านยากลำบากกว่าเรามากมายค่ะ
ระยะทางระหว่างเมือง
พุทธคยา – ราชคฤห์ 75 กม. (ใช้เวลาประมาณ 2 ชม.)
ราชคฤห์ – ไวสาลี 120 กม. (ใช้เวลาประมาณ 3.30 ชม.)
ไวสาลี – กุสินารา 211 กม. (ใช้เวลาประมาณ 4-5 ชม.)
กุสินารา – ลุมพินี 160 กม. (ใช้เวลาประมาณ 4 ชม.)
ลุมพินี – สาวัตถี 210 กม. (ใช้เวลาประมาณ 6 ชม.)
สาวัตถี – พาราณสี 315 กม. (ใช้เวลาประมาณ 8 ชม.)
พาราณสี – พุทธคยา 250 กม. (ใช้เวลาประมาณ 5-6 ชม.)
- นิสัยเฉพาะของแขก
กิตติศัพท์ที่คนไทยเราเคยได้ยินเกี่ยวกับคนอินเดียคือ เจองูกับแขกให้ตีแขกก่อน คำๆนี้อาจจะจริงและไม่จริงเสมอไปค่ะ ในทุกๆสังคมมีคนดีและคนไม่ดี แต่สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจคืออินเดียเป็นประเทศที่มีการแข่งขันสูงมาก คนอินเดียไขว่คว้าหาโอกาสในการมีชีวิตที่ดี เขาจึงวิ่งเข้าหาโอกาสในการค้าขายตลอดเวลา ดังนั้นขอความกรุณาอย่ารำคาญในการทำมาหากินของเขาเลยค่ะ
เขามักจะมาตื้อเดินตามเราตลอดเวลา หากเราไม่เอาก็ปฏิเสธไปหรือมองเมินเสีย แต่พยายามทำใจ ไม่รำคาญเขานะคะ
โดยนิสัยคนอินเดียจะหน้าบึ้ง เสียงดัง แลดูดุ แต่ไม่ดุค่ะ ส่วนใหญ่ที่เจอมาใจดี แต่กรุณาอย่าไว้ใจคนแปลกหน้า เพราะคนไม่ดีที่หาผลประโยชน์จากเรามีทุกที่ ดังนั้นวางใจให้สบาย ไม่ต้องระแวงระวังเกินไป ไม่ว่าท่านจะไหน หัวหน้าทัวร์และไกด์จะคอยดูแลสอดส่องเสมอๆค่ะ
- แนะนำการซื้อของ
อย่างที่กล่าวไปในหัวข้อที่แล้ว โอกาสทางการค้าคือสิ่งที่แขกวิ่งเข้าหา ดังนั้นเรามักจะเจอการบอกราคาของที่สูงมาก ต่อเลยค่ะ ต่อในราคาที่เราพอใจ ถ้าเขาให้ได้เขาจะให้เอง แต่คำนึงไว้เสมอว่าใจเขาใจเรานะคะ หากเราค้าขายเราก็ต้องอยากได้กำไร ดังนั้นให้กำไรเขาบ้าง เพื่อให้เลี้ยงครอบครัว ถ้าเขาให้เราได้ เขาให้แน่นอนค่ะ เพราะใครๆก็อยากขายของให้ได้ค่ะ
การซื้อของจะแบ่งออกเป็นสองอย่างคือของที่วางขายตามร้าน ให้ดูราคารูปีที่ติดข้างผลิตภัณฑ์เป็นหลัก ของแบบนี้จะต่อไม่ได้เป็นราคาที่ขายเหมือนกันทั่วประเทศ แต่จะมีของที่แขกเดินเข้ามาหา มาขายให้เราถึงที่ท่องเที่ยว อันนั้นต่อได้ค่ะ ลองต่อก่อน ต่อเลยตามราคที่พอใจ ถ้าเขาให้ได้ เขาจะให้เองค่ะ
- การทำงานที่ด่านอินเดียเนปาล
การทำงานของคนอินเดีย แตกต่างจากการค้าขายของพ่อค้าราวฟ้ากับเหว พ่อค้าจะรีบเร่งทำงานให้เร็ว แต่หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆจะทำงานเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก หากถึงเวลาทานข้าวจะทิ้งงานแล้วไปทานข้าวตอนนั้นเลย ซึ่งเป็นอุปสรรคหนึ่งในการเดินทางของเรา ด่านตม.ที่เราต้องเจอคือตม.สนามบินคยาและตม.ชายแดนเสาโนรี อินเดีย เนปาล เจ้าหน้าที่ใช้เวลาทำงานพอสมควร ดังนั้น เมื่อเราปรับแก้ไขธรรมชาติ ลักษณะนิสัยเขาไม่ได้ จึงต้องปรับแก้ไขที่ใจเรา เตรียมใจเอาไว้ล่วงหน้าค่ะ