ตอนที่ 5 : เอาเงินไปเท่าไหร่ แลกเงินที่ไหน ของช้อปปิ้งและการติดต่อครอบครัว

 เอาเงินไปเท่าไหร่ดี แลกเงินที่ไหน มีอะไรช้อปปิ้งหรือซื้อฝากบ้างและการติดต่อครอบครัว

Q : อินเดียใช้สกุลเงินอะไร ?

A : อินเดียรูปีค่ะ

Q : เนปาลล่ะ ต้องแลกสกุลเงิน 2 ประเทศเลยหรือเปล่า ?

A : ไม่ต้องแลกของเนปาลค่ะ เราสามารถใช้รูปีอินเดียที่เนปาลได้เลยเขารับเหมือนกันค่ะ

Q : เอาเงินไปเท่าไหร่ดี ?

A : แล้วแต่เลยค่ะแต่หากประมาณไม่ถูก ขอยกตัวอย่างเป็นแนวทางคร่าวๆให้ ดังนี้

เงินช้อปปิ้ง ช้อปไม่เยอะ 5,000 ช้อปเยอะ 10,000

เงินทำบุญที่วัดไทยสมมติทำวัดละ 500 ประมาณ 7-9วัด เงินทำบุญฟ้าประมาณให้นะคะ แต่ไม่มีการบังคับต้องเท่าไหร่เป๊ะๆหรือกำหนดยอด เอาตามสะดวก สบายใจค่ะ

แนะนำว่าพกเงินสดสำรองไปอีกจำนวนหนึ่ง อาจจะ1-2หมื่นบาท พกสำรองนะคะไม่จำเป็นต้องใช้ให้หมดแต่เผื่อไว้ดีกว่าขาด เพราะที่นู่นหาที่กดเงินสดยากมากและเส้นทางที่เราไปไม่รับบัตรเครดิตค่ะ

 Q : แลกเงินที่ไหน จากไทยหรือไปแลกที่นู่นดี?

A : แลกที่ไทยก็ได้จะได้เรทดี แต่ไม่มีแบงค์ย่อยค่ะหรือจะเอาเงินบาทติดไป ฟ้าแสตนบายเงินรูปีไว้ให้แลก เรทต่างกันไม่มาก เตรียมแบงค์ย่อยไว้ให้ด้วย

 

Q : ทำไมต้องใช้แบงค์ย่อย ?

A : อินเดียใช้แบงค์ย่อยเยอะ สะดวกกว่าเวลาเราซื้อของชิ้นเล็กชิ้นน้อย เผื่อเอ็นดูเด็กก็ทีละสิบรูตีประมาณ 5 บาท อันนี้เจอปัญหาส่วนตัวว่าเคยจ่ายแบงค์ใหญ่แล้วแขกนางไม่มีทอน หงุดหงิดกันไป ดังนั้นแลกแบงค์ย่อยไว้ก่อน เวลาจะใช้ก็ค่อยๆหยิบแบงค์ใหญ่มาแตก

Q : ข้อแนะนำการพกเงิน

A : อินเดียไม่ใช่ยุโรปที่โจรจะเยอะและมืออาชีพ ไม่เคยมีเคสโดนล้วงกระเป๋า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิด แนะนำทุกท่านว่าพกกระเป๋าใบกะทัดรัดไปพกติดตัวตลอดเวลา สำหรับคุณผู้หญิงส่วนใหญ่เราจะมีกระเป๋าถือไว้ใส่ของจุกจิกอยู่แล้ว ก็ใช้แบบนั้นได้ เงินที่เราแลกไว้ในจำนวนเยอะ เวลาจะหยิบใช้ให้แบ่งจำนวนติดตัว อย่าหยิบขึ้นมาเป็นปึกๆทั้งกระเป๋ามันดึงดูดสายตาและแสดงออกว่าเรามีเงิน ซึ่งแขกเขารู้ล่ะค่ะว่านักท่องเที่ยวต้องมีเงินไปใช้จ่าย แต่การไม่ดึงดูดสายตาไว้ย่อมปลอดภัยกว่าแน่นอน

เมื่อแลกเงินจากน้องฟ้าแล้ว ได้รับเงินรูปีไป รบกวนศึกษาชนิดแบงค์ก่อนสักนิด ป้องกันความงงเวลาหยิบเงินจ่ายค่ะ

Q : ช้อปปิ้งที่ไหน มีอะไรให้ซื้อบ้าง

A : แต่ละสถานที่ที่เราไปจะมีแผงสินค้าตั้งเรียงรายให้เราเลือกซื้อ แล้วแต่ความชอบแต่ละคน แต่เนื่องจากเราย้ายเมืองทุกวัน หากช้อปปิ้งเลยเท่ากับเราจะแบกของเยอะตั้งแต่วันแรก ของจุกจิกบางอย่างตามสถานที่ซื้อได้ แต่พวกผ้า สกินแคร์ยี่ห้อHimalaya เครื่องทองเหลือง พระพุทธรูป แผ่นทอง ใบโพธิ์ ยาสะระแหน่เขียว Pudinhara ลอคเกตพระ เหล่านี้มีขายที่พุทธคยาค่ะ น้องฟ้าจัดเวลาไว้ให้สำหรับช้อปปิ้งเต็มที่ค่ะ เช็คลิสเก็บไปช้อปที่พุทธคยาดีกว่าค่ะ ทำสำคัญน้องฟ้าแสตนบายรับฝากของ ไม่ต้องถือของหนัก จะเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ดูแลของช้อปปิ้งของทุกคนให้ค่า

Checklist ของฝาก ของดีจากสังเวชนียสถาน  

 

Q : คำแนะนำในการช้อปปิ้ง Highly Recommended  

A : ต่อราคาค่ะ คนขายของต้องมีกำไร แต่ที่แนะนำให้ต่อราคาคือเผื่อเราเกิดแจ็คพอตไปเจอคนขายที่เขาบอกราคาเราสูงเกินไป ไม่ได้หมายความว่าจะฟันธงต้องเอาของถูกเท่านั้น มีแต่ราคาที่เราพอใจ ถูกแพงแต่ละคนไม่เท่ากันค่ะ ถ้าเขาลดให้ได้เขาจะลดให้เอง ถ้าของชิ้นนั้นเราชอบ แต่ไม่ถูกใจราคา ก็ลองคุยกับคนขายดูว่าเขาพอจะลดให้เราได้เท่าไหร่ ถ้าเขาลดให้ได้ในราคาที่มีกำไรอยู่ ขายได้และเราพอใจ ก็ถือว่าวินกันทั้งสองฝ่ายนะคะ

Q : เวลาลงสถานที่แล้วเจอแขกล้อมหน้าล้อมหลังขายของ ต้องทำยังไง?

A : วางเฉยค่ะ อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรเยอะ เขาต้องแย่งชิงโอกาสในการทำมาหากินและเข้าถึงลูกค้า นั่นคือวิธีการขายของเขา เราอย่าเอาใจไปผูกติด ตัดสินหรือรำคาญไปเสียก่อน มองให้เป็นเรื่องปกติของโลก เราอยู่คนละวัฒนธรรมกันค่ะ พยายามวางเฉย อย่ารำคาญคนทำมาหากินเลยค่ะ เวลาลงสถานที่อยู่กับคณะ เดินไปด้วยกันอย่าปลีกตัวไปไหนคนเดียวเพราะคนเยอะอาจหลงหรือคลาดสายตาได้ ยิ่งใส่แมสปิดจมูกยิ่งดูเหมือนกันไปหมด ให้ดูสัญลักษณ์หัวแถว มองตามไกด์อินเดียและน้องฟ้าค่ะ

 

Q : เมื่อไปถึงจะติดต่อครอบครัวที่ไทยอย่างไร?

A : มีซิมเนตให้ยืมค่ะ เติมเงินตามแพคเกจที่เราใช้ เป็นแพคเกจอินเตอร์เนตต่อวัน เร็วและแรงใช้ได้ จะแจ้งรายละเอียดในกลุ่มไลน์ค่ะ